การใช้ปุ๋ยเคมีผิดวิธีที่พบบ่อยมีที่มาจากความไม่รู้บ้าง ความเข้าใจผิดบ้าง ความเคยชินบ้าง มาดูกันว่าเราเป็นหนึ่งในเกษตรกรที่ใช้ปุ๋ยเคมีผิดวิธีกันอยู่หรือเปล่า


1. ทำนาข้าวอัดปุ๋ยยูเรียกันเข้าไป 

พบมากในหมู่ชาวนาภาคกลางที่ปลูกข้าวในนาดินเหนียว เพราะเชื่อทฤษฎีที่ว่าในดินเหนียวมีฟอสฟอรัสกับโพแทสเซียม หรือธาตุ P กับ K ในดินมากพออยู่แล้ว ก็เลยไม่สนใจ P K แต่อัดไนโตรเจน หรือธาตุ N คือปุ๋ยยูเรีย 46-0-0 กันเข้าไป เร่งให้ข้าวใบเขียวไสวไปทั้งท้องนา นาใครไม่เขียวจะถูกเพื่อนบ้านดูถูกเอาว่าทำนาไม่เป็น

แต่นี่เป็นการใช้ปุ๋ยเคมีผิดวิธี

ผิด 1  การใส่ปุ๋ยยูเรียมากๆ จนใบเขียวสด ทำให้ข้าวอวบน้ำ ต้นไม่ค่อยแข็งแรง แต่ใบใหญ่ น้ำหนักใบเยอะ กลางคืนโดนน้ำค้างแถมด้วยมีลมพัดอีกนิดหน่อย ต้นอวบๆ ก็จะรับน้ำหนักไม่ไหว ข้าวในนาจะล้มเป็นหย่อมๆ หรือบางทีก็ล้มราบไปทั้งแปลงเลยก็มี 

ผิด 2  ข้าวที่อวบน้ำ ใบเขียวสด เป็นอาหารโปรดของแมลง จากเดิมทำนาไม่ต้องพ่นยาก็ต้องซื้อยามาพ่น จากที่เคยพ่นยาฤดูละ 1 ครั้ง ก็ต้องเพิ่มเป็น 2-3 ครั้ง ต้นทุนค่ายาแพงมหาศาลเป็นตัวการทำให้ขาดทุนได้ 

ผิด 3  ควรรู้ไว้สักนิดว่าในดินเหนียวมีฟอสฟอรัสและโพแทสเซียมอยู่มากแล้วก็จริง แต่มันเป็นธาตุที่ปลดปล่อยออกมาช้าๆ ไม่ทันความต้องการของข้าว จึงยังจำเป็นต้องใส่ปุ๋ย P และ K ซึ่งละลายไว แตกตัวไว เสริมให้นาข้าวด้วย การทำนาจึงจะได้ผลผลิตที่ดี 


2. ใส่ปุ๋ยยูเรียรอบแรก ใส่ปุ๋ยสูตรรอบหลัง

นี่นับเป็นปัญหาโลกแตกปัญหาหนึ่งเลยทีเดียว เพราะชาวนาบ้านเราจำกันแต่ว่าข้าวช่วงเจริญเติบโตต้องการธาตุไนโตรเจน และช่วงออกรวงต้องการโพแทสเซียม จึงมักจะใส่ปุ๋ยยูเรีย 46-0-0 เป็นปุ๋ยรอบแรก แล้วใส่ปุ๋ยสูตรที่มีธาตุ P และ K เช่น 16-20-0, 16-8-8, 16-16-8 ฯลฯ กันรอบหลังตอนรับรวง

ผิด 1  ฟอสฟอรัส หรือธาตุ P ช่วยขยายราก ทำให้ข้าวแตกกอมาก และช่วยส่งเสริมให้ข้าวออกรวงมาก ต้องใส่เป็นปุ๋ยรอบแรก การไปใส่รอบหลังตอนข้าวกำลังจะออกรวงจึงไม่ได้ช่วยเรื่องขยายรากหรือแตกกอเลย และไม่น่าจะช่วยเรื่องการออกรวงด้วยเพราะขณะใส่ปุ๋ยข้าวมักจะสร้างรวงไปแล้วเพียงแต่ยังไม่แทงรวงออกมาให้เห็นเท่านั้น ฟอสฟอรัสที่ใส่ช้าเกินไปจึงเหมือนทิ้งเงินไปฟรีๆ 

ผิด 2  โพแทสเซียม หรือธาตุ K เป็นธาตุที่พืชใช้มากในช่วงสร้างน้ำหนัก แต่ธาตุนี้เคลื่อนย้ายช้า ประมาณว่าต้องใช้เวลาถึง 30 วันจึงจะเดินทางขึ้นไปถึงใบได้ การใส่ปุ๋ยโพแทสเซียมรับรวงกว่าจะดูดถึงใบก็ถึงเวลาเกี่ยวข้าวพอดี การใส่โพแทสเซียมจึงไม่ได้ใช้ประโยชน์และเหลือตกค้างอยู่ในซังและฟางเป็นส่วนใหญ่ การใส่ปุ๋ยโพแทสเซียมช้าจึงเหมือนการทิ้งเงินลงดิน และถ้ามีการเผาตอซังด้วยก็เหมือนเผาเงินทิ้งเลยทีเดียว การใส่ปุ๋ยโพแทสเซียมจึงต้องใส่ตั้งแต่รอบแรก 

วิธีการใส่ปุ๋ยนาข้าวให้ถูกวิธี ต้องใส่ปุ๋ยสูตร เช่น 16-20-0, 16-8-8, 16-16-8 ฯลฯ เป็นปุ๋ยรองพื้นหรือปุ๋ยรอบแรก และปุ๋ยรับรวงหรือปุ๋ยรอบสองให้ใส่เฉพาะปุ๋ยยูเรีย เพราะเมื่อข้าวออกรวงแล้วต้องเน้นเรื่องการสังเคราะห์แสง จึงต้องบำรุงด้วยไนโตรเจนให้ใบเขียวนานๆ ข้าวจะสะสมแป้งได้มาก น้ำหนักดี เรื่องธาตุโพแทสเซียมไม่ต้องเป็นห่วง ส่วนหนึ่งสะสมรออยู่ในลำต้นแล้ว และอีกส่วนหนึ่งเพิ่งจะเดินทางมาถึงหลังจากใส่ปุ๋ยไปตั้งแต่รอบแรก

ในกรณีการปลูกข้าวโพดก็ทำนองเดียวกัน ต้องใส่ปุ๋ยสูตรตั้งแต่รอบแรก และใส่ปุ๋ยยูเรียรอบสอง


3. ใส่ปุ๋ยระเบิดหัวตอนอายุ 8 เดือน

นี่ก็เป็นวิธีการใส่ปุ๋ยเคมีที่ผิดอย่างมาก เซลล์ขายปุ๋ยรถเร่และร้านขายปุ๋ยบางร้านที่ไม่มีความรู้มักแนะนำอย่างนี้ เกษตรกรก็หลงเชื่อเพราะคำว่า ปุ๋ยระเบิดหัว มันดูเข้ากันได้กับช่วงเวลาที่มันกำลังสร้างหัวเสียเหลือเกิน

ก่อนอื่นให้ดูกลไกการเติบโตของมันสำปะหลังกันก่อน จะลองขุดรากมันสำปะหลังดูพัฒนาการเปรียบเทียบกันก็ได้ว่าจริงตามนี้หรือเปล่า

มันสำปะหลังจะเริ่มแตกใบให้เห็นหลังปลูกได้ 2-3 วัน เริ่มมีรากหลังปลูก 2-3 สัปดาห์ และมีรากฝอยมากที่สุดหลังปลูก 45 วัน ระยะนี้รากมันสำปะหลังดูดธาตุอาหารในดินได้มาก ต้นโตเร็ว สูงใหญ่ และรากฝอยจำนวนหนึ่งเริ่มสะสมอาหารและเปลี่ยนเป็นหัว และหลัง 120-150 วันไปแล้วรากฝอยส่วนมากจะหมดอายุและหลุดร่วงไปเกือบหมด เหลือแต่หัวและรากฝอยปลายหัวเท่านั้น

ช่วงเวลาใส่ปุ๋ยมันสำปะหลังที่ดีที่สุดจึงควรอยู่ในช่วง 45-90 วันหลังปลูก อย่างช้าที่สุดไม่ควรเกิน 120 วัน เพราะมันสำปะหลังแทบจะไม่เหลือรากไว้ดูดอาหารอีกแล้ว

ดังนั้น การใส่ปุ๋ยระเบิดหัวมันเดือนที่ 8 จึงไม่มีประโยชน์ เท่ากับโยนเงินทิ้งลงดินไปเฉยๆ หากต้องการใส่ปุ๋ยจริงๆ ให้เปลี่ยนไปใช้ปุ๋ยน้ำฉีดพ่นทางใบแทนการใส่ปุ๋ยทางดิน


4. ใส่ปุ๋ยชิดโคนต้นรากพืชจะได้ดูดง่าย

นี่เป็นการใส่ปุ๋ยผิดวิธีอีกแบบหนึ่งที่พบมาก โดยเฉพาะเมื่อจ้างคนงานใส่ปุ๋ยแล้วเจ้าของสวนไม่ดูแล คนงานพวกนี้จะใส่ปุ๋ยปาล์มชิดโคนต้น ใส่ปุ๋ยยางพาราก็ชิดโคนต้น ใส่ปุ๋ยทุเรียนก็ชิดโคนต้น ไม่ว่าจะใส่ปุ๋ยต้นอะไรก็ใส่ชิดโคนต้น เพราะคิดไปเองว่าพืชจะได้ดูดปุ๋ยไปใช้ได้เร็วๆ

ความเป็นจริงยางพารา ปาล์มน้ำมัน รวมทั้งไม้ยืนต้นอื่นๆ จะขยายระบบรากกว้างขึ้นตามอายุและขนาดของต้นไม้ โดยปกติปลายรากฝอยจะอยู่บริเวณรัศมีพุ่มใบ ซึ่งอาจจะห่างจากโคนต้น 1 เมตร 2 เมตร 3 เมตร ส่วนรากที่อยู่ใกล้โคนต้นนั้นมีแต่รากขนาดใหญ่ที่ไม่มีปลายรากฝอยเล็กๆ สำหรับดูดธาตุอาหารแล้ว การใส่ปุ๋ยชิดโคนต้นจึงใส่แบบสูญเสียเปล่าประโยชน์

ปุ๋ยเคมีใส่ผิดวิธีชีวิตเปลี่ยนจริงๆ คือ เปลี่ยนเป็นขาดทุนและจนลง ถ้าเคยใส่ปุ๋ยเคมีผิดวิธี รู้แล้วรีบแก้ไข การใส่ปุ๋ยจะได้ไม่สูญเปล่า ไม่เสียเงินไปฟรีๆ ปลูกพืชแล้วจะได้มีกำไร