การปลูกมันสำปะหลังให้ผลผลิตสูงนอกจากดินดี น้ำดี ไม่มีวัชพืช ไม่มีเพลี้ย สิ่งที่จำเป็นที่สุดอีกอย่างหนึ่งคือการใส่ปุ๋ย ที่เรียกว่า ปุ๋ยระเบิดหัว

ปุ๋ยระเบิดหัวมันสำปะหลัง คือ ปุ๋ยเคมีที่มีธาตุอาหารตัวท้ายสูง มีเรโชปุ๋ยประมาณ 2:1:3 ซึ่งปุ๋ยระเบิดหัวก็อาจจะเป็นสูตร 15-5-20, 15-7-20, 15-7-18, 15-7-22 เป็นต้น

แต่การใส่ปุ๋ยระเบิดหัวที่ถูกต้อง ต้องใส่เมื่อมันสำปะหลังอายุ 30-90 วัน อย่าไปใส่หลังมันสำปะหลังอายุเกิน 4 เดือนไปแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใส่ปุ๋ยระเบิดหัวเมื่อมันสำปะหลังอายุ 6-8 เดือนตามคำแนะนำของร้านค้าปุ๋ยบางร้านนั้นเป็นคำแนะนำที่ผิด เสียเงินและเสียเวลาเปล่า ขอให้จำกันไว้ว่ามันสำปะหลังเกิน 4 เดือนอย่าใส่ปุ๋ยทางดิน

วิธีดูแลมันสำปะหลังช่วง 4 เดือนแรกเพื่อเพิ่มผลผลิต

มันสำปะหลังไม่ว่าจะเป็นพันธุ์ไหนหรือปลูกในพื้นที่ใดก็ตาม ปัจจัยสำคัญที่ทำให้มันลงหัวเยอะ น้ำหนักดี อยู่ที่การดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษในช่วงอายุ 4 เดือนแรก ถ้ามันสำปะหลัง 4 เดือนแรกต้นเจริญเติบโตดี มีพุ่มใบสมบูรณ์ มันสำปะหลังนั้นก็จะให้ผลผลิตสูงกว่าที่เคยเป็น ผลผลิตที่เคยได้เพียง 3-5 ตัน ก็สามารถเพิ่มขึ้นเป็น 7-10 ตันขึ้นไปได้ โดยการดูแลในช่วง 4 เดือนแรกนี้มุ่งเน้นไปที่ 4 เรื่อง คือ น้ำ, ปุ๋ย, วัชพืช และเพลี้ย



น้ำ

มันสำปะหลังต้องการน้ำในการเจริญเติบโตเหมือนพืชอื่นๆ ทุกชนิด ซึ่งหากอยู่ในเขตชลประทาน หรือมีระบบน้ำในแปลงปลูกก็คงไม่มีปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำ แต่มันสำปะหลังส่วนใหญ่ปลูกในพื้นที่ที่ไม่มีระบบน้ำ การเจริญเติบโตต้องอาศัยน้ำฝน เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังจึงต้องเลือกเดือนปลูกให้เหมาะสม คือ ปลูกช่วงต้นฝนหรือก่อนเข้าฤดูฝนเล็กน้อย เพราะมันสำปะหลังจะได้รับน้ำฝนในฤดูฝนยาวนานที่สุด ทำให้มันสำปะหลังในช่วงอายุ 4 เดือนแรกเจริญเติบโตดี มีใบมาก รากเยอะ และลงหัวเยอะ หากปลูกช่วงกลางหรือปลายฝนมันสำปะหลังจะพัฒนาต้นได้น้อย จำนวนรากน้อยทำให้จำนวนหัวมีน้อย และมีใบน้อยทำให้หัวเล็กเพราะใบสังเคราะห์แสงสะสมเป็นแป้งได้น้อย



ปุ๋ย

มันสำปะหลังต้องใส่ปุ๋ยให้ถูกสูตรและถูกเวลาจึงได้ผลผลิตสูง

ระยะเวลาการใส่ปุ๋ยมันสำปะหลังต้องศึกษาพฤติกรรมการแตกรากและการสะสมแป้งในหัว มันสำปะหลังจะมีรากแขนงและรากฝอยมากที่สุดหลังจากอายุ 45 วันเป็นต้นไป ระยะนี้รากจะดูดซึมธาตุอาหารในดินขึ้นไปสะสมไว้ในรากและลำต้น มันสำปะหลังจะใช้ธาตุอาหารเหล่านี้ในกระบวนการสังเคราะห์แสงเกิดเป็นแป้งมาสะสมในราก ทำให้รากแขนงขยายขนาดกลายเป็นหัว ส่วนรากฝอยจะทยอยหลุดร่วงไป หลังพ้น 120 วันไปแล้วรากฝอยจะหลุดร่วงจนหมดเหลือเพียงหัวและรากฝอยที่ปลายหัวเพียงเล็กน้อยเท่านั้น การดูดซึมธาตุอาหารทางรากหลังจากนี้จะเกิดขึ้นน้อยมาก และมันสำปะหลังจะใช้วิธีสังเคราะห์แสงและรับธาตุอาหาร C H และ O จากอากาศแทนการรับธาตุอาหารจากทางดิน

การใส่ปุ๋ยมันสำปะหลังจึงต้องใส่ในช่วงที่มีจำนวนรากมากที่สุด คือ ระหว่างอายุ 30-90 วัน หรืออย่างช้าควรใส่ปุ๋ยก่อนมันอายุครบ 120 วัน หากใส่ปุ๋ยพ้นระยะนี้ไปแล้วไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยระเบิดหัว ปุ๋ยนาโน หรือปุ๋ยวิเศษอะไรก็ตาม จะ ไม่คุ้มค่า เพราะมันสำปะหลังเหลือจำนวนรากไว้ดูดซึมธาตุอาหารทางดินน้อยมาก ธาตุอาหารในปุ๋ยที่ใส่ลงไปจึงสูญหายไปอย่างไร้ประโยชน์

มันสำปะหลังต้องการธาตุอาหารหลักครบทั้ง 3 ตัว ธาตุอาหารตัวหน้า คือ ไนโตรเจน ทำให้ต้นและพุ่มใบสมบูรณ์ สังเคราะห์แสงได้เต็มที่ ธาตุอาหารตัวกลาง คือ ฟอสฟอรัส ทำให้ระบบรากสมบูรณ์ และธาตุอาหารตัวท้าย คือ โพแทสเซียม ช่วยในการสะสมแป้ง หากธาตุอาหารตัวใดมากหรือน้อยเกินไปก็จะเกิดความไม่สมดุล เช่น ธาตุอาหารตัวหน้ามากเกินไปมันสำปะหลังจะบ้าใบไม่ค่อยสะสมแป้ง ไม่ลงหัว แต่ถ้าธาตุอาหารตัวท้ายมากเกินไปก็ไม่สมดุล มันสำปะหลังจะแสดงอาการใบเหลือง ทิ้งใบ และหยุดลงหัว เป็นต้น

ปุ๋ยเคมีที่เหมาะสำหรับมันสำปะหลังควรมีสัดส่วนธาตุอาหารประมาณ 2:1:3 ได้แก่ปุ๋ยสูตร 15-5-20, 15-7-18, 15-7-20, 15-7-21 เป็นต้น หรือปุ๋ยสั่งตัดที่อาจแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ อัตราการใช้ 50-70 กิโลกรัม/ไร่ (ปุ๋ยที่มีตัวหน้าสูงกว่าตัวหลังมาก เช่น สูตร 25-7-7, 16-8-8, 15-5-5 เป็นต้น ใช้ไม่ได้ผลดีนักเพราะมันสำปะหลังจะบ้าใบ ส่วนปุ๋ยที่มีตัวกลางเยอะ เช่นสูตร 15-15-15, 16-16-16, 13-13-21 เป็นต้น เป็นปุ๋ยที่ใช้ได้ผลดีเช่นกัน แต่ราคาปุ๋ยจะสูงเกินความจำเป็นเพราะมีธาตุอาหารตัวกลางที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ส่วนปุ๋ยที่ไม่มีสูตรควรหลีกเลี่ยงเพราะเป็นปุ๋ยที่อาจมีปัญหาผู้ผลิตจึงหลบเลี่ยงการขึ้นทะเบียนให้ถูกต้อง)

การปลูกมันสำปะหลังถ้าได้รองพื้นก่อนปลูกด้วยก็จะดี แต่มักมีนักขายแนะนำเกษตรกรผู้ปลูกมันว่าให้ใช้ปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) ผสมกับสินค้าอะไรบางอย่างรองพื้น มันสำปะหลังจะได้เจริญเติบโตดีในช่วงแรก ข้อนี้เป็นคำแนะนำที่ผิดหลักวิชาการอย่างมาก เพราะมันสำปะหลัง (และพืชทุกชนิด) จะดูดธาตุอาหารได้ก็ต่อเมื่อมีราก การใส่ปุ๋ยรองพื้นก่อนปลูกมันสำปะหลังจึงไม่มีประโยชน์ เพราะมันสำปะหลังยังไม่มีราก และที่สำคัญคือยังไม่มีต้นเลยด้วยซ้ำ ปุ๋ยยูเรียที่ใส่รองพื้นจะอยู่ไม่ถึงวันที่มันสำปะหลังแตกราก เพราะหากดินมีความขึ้น 70% ขึ้นไป และอุณหภูมิประมาณ 30 องศา ปุ๋ยยูเรียจะระเหิดหายไปหมดภายในไม่เกิน 2 วัน

ปุ๋ยระเบิดหัว ในท้องตลาดมีปุ๋ยที่โฆษณาว่าเป็นปุ๋ยระเบิดหัวจำนวนมากมายหลายยี่ห้อ เป็นปุ๋ยที่มีธาตุอาหารตัวท้ายสูงๆ เป็นปุ๋ยที่ใช้ได้ดี (ถ้าไม่เป็นปุ๋ยปลอม และปุ๋ยมีสัดส่วนธาตุอาหารประมาณ 2:1:3 ตามที่แนะนำไปแล้วข้างต้น) แต่อย่าลืมพฤติกรรมของมันสำปะหลังด้วยว่าหลังอายุเกิน 4 เดือนไปแล้วปุ๋ยอะไรก็ช่วยระเบิดหัวให้ไม่ได้ มีแต่จะระเบิดกระเป๋าเงินของเกษตรกรผู้ปลูกมันไปเท่านั้น



วัชพืช

ในช่วงแรกที่มันสำปะหลังยังมีอายุน้อย ยังมีแสงแดดส่องถึงพื้นดินได้ง่าย เป็นช่วงเวลาที่วัชพืชเจริญงอกงามดีมาก หากไม่มีการกำจัดหรือควบคุม วัชพืชเหล่านี้จะแย่งธาตุอาหารจนมันสำปะหลังขาดธาตุอาหาร โตช้า ส่งผลให้ได้ผลผลิตน้อย เกษตรกรจึงต้องดูแลวัชพืชด้วยการวิธีฉีดยาคุมหญ้าโดยฉีดหลังปลูกก่อนมันสำปะหลังจะแตกตาข้าง อย่าฉีดยาคุมหญ้าก่อนปลูก เพราะการเดินลุยเข้าไปปลูกมันสำปะหลังหลังฉีดยาคุมหญ้านั้นทำให้ประสิทธิภาพของยาคุมหญ้าหมดไป การคราด ถาง ไถ หรือกำจัดวัชพืชด้วยมือก็เป็นวิธีที่ดี แต่ต้องระวังอย่าถึงขั้นขุดทำลายระบบรากของมันสำปะหลัง และห้ามใช้สารกำจัดวัชพืชจำพวกดูดซึมอย่างเด็ดขาด เพราะสารเคมีพวกนี้ย่อยสลายช้า เมื่อรากมันสำปะหลังเดินมาสัมผัสก็จะเกิดการชะงัก ใบเหี่ยว และอาจตายได้

หลังจาก 4 เดือนไปแล้ว มันสำปะหลังจะโตจนแสงแดดส่องผ่านใบไปถึงพื้นดินได้น้อย วัชพืชจะไม่งอกขึ้นมาใหม่ ส่วนที่งอกมาแล้วก็จะทยอยตายไปเอง ช่วงนี้คอยดูแลกำจัดเฉพาะวัชพืชที่เป็นเถาเครือก็พอด้วยการใช้มีดตัดโคนแล้วใช้สารกำจัดวัชพืชผสมน้ำมันดีเซลทาตรงรอยแผล เถาเครือจะตายลงไปถึงราก



เพลี้ย

เพลี้ยแป้งเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้มันสำปะหลังให้ผลผลิตน้อย เพราะอาหารที่มันสำปะหลังปรุงได้แทนที่จะได้เคลื่อนย้ายไปเก็บที่หัวก็กลายเป็นอาหารของเพลี้ยแป้งไปเสียหมด มันสำปะหลังที่เพลี้ยแป้งทำลายน้อยๆ เพียงแค่พอมองเห็นว่ามีเพลี้ยแป้งจะให้ผลผลิตน้อยลงขั้นต่ำ 20-30% แต่หากเพลี้ยแป้งระบาดมากถึงขั้นทำลายยอดและใบจนหงิกด้วนมันสำปะหลังนั้นอาจไม่ให้ผลผลิตเลย

เพลี้ยแป้งมาจากไข่ที่ฝังอยู่ในดินจากการระบาดปีก่อน หรือฝังอยู่ที่ตาของท่อนพันธุ์ หรือปลิวตามลมมาจากแปลงข้างเคียงที่เกิดการระบาด เกษตรกรจึงควรเลือกซื้อท่อนพันธุ์จากแหล่งที่แน่ใจว่าไม่มีการระบาดของเพลี้ยแป้ง และก่อนนำท่อนพันธุ์ลงปลูกควรแช่ท่อนพันธุ์ด้วยสารกำจัดไข่เพลี้ยแป้งก่อน 20-30 นาที หลังจากนั้นให้ตรวจตราแปลงมันสำหลังรวมทั้งแปลงข้างเคียงอยู่เสมอ หากมีการระบาดต้องชวนกันแก้ไขทันที


การดูแลมันสำปะหลังอย่างดีในช่วง 4 เดือนแรก ควรจะได้ผลผลิตประมาณ 7-10 ตัน/ไร่ หากมีการบำรุงดินด้วยปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยพืชสดและมีระบบน้ำให้ด้วยผลผลิตอาจเพิ่มสูงถึง 10-15 ตัน/ไร่ อย่างไรก็ตาม เกษตรกรไม่ควรหลงเชื่อซื้อท่อนพันธุ์ ปุ๋ย หรือยาใดๆ ที่โฆษณาว่าทำให้มันสำปะหลังได้ผลผลิตสูง อย่าหลงเชื่อเพียงได้ฟังคำพูดสวยหรู อย่าหลงเชื่อเพียงได้เห็นรูปถ่ายมันสำปะหลังหัวโตจากที่ไหนก็ไม่รู้ และอย่าหลงเชื่อเพียงได้เห็นกระดาษบรรยายสรรพคุณแค่แผ่นสองแผ่น แต่เชื่อได้หากได้เห็นกับตาจริงๆ ว่าเขาสามารถปลูกมันสำปะหลัง 30 ไร่ แล้วได้ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่สูงจริงดังคำโฆษณา